“จัดขึ้นในช่วงประมาณเดือนกันยายนของทุกปี ภายในงานจะประกอบไปด้วยหมูย่างสูตรพิเศษของเมืองตรังจากร้านต่างๆ ในจังหวัด มาร่วมออกร้าน ณ บริเวณสี่แยกธรรมรินทร์ บนถนนสถานี”

เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง โดยจะจัดขึ้นในช่วงประมาณ เดือนกันยายนของทุกปี ภายในงานจะประกอบไปด้วยหมูย่างสูตรพิเศษของเมืองตรังจากร้านต่างๆ ในจังหวัด มาร่วมออกร้าน ณ บริเวณสี่แยกธรรมรินทร์ บนถนน สถานีและมีการจัดขบวนแห่ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งจากภาครัฐบาลและภาคเอกชน ประวัติความเป็นมา หมูย่าง เป็นอาหารประจำท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อของเมืองตรัง นิยมรับประทานกับกาแฟ เหตุที่หมูย่างสูตรเมืองตรังมีชื่อเสียงโด่งดังและอร่อยกว่าสูตรอื่นๆ เพราะมีหนังกรอบและรสชาติดี โดยนำหมูที่มีน้ำหนัก ประมาณ 20 30 กิโลกรัม ทั้งตัวหมักใส่เครื่องปรุง จากนั้นก็นำไปอบย่างในเตาถ่านอุณหภูมิสูงน้ำหนักของหมูจะลดลงเหลือประมาณ 8 12 กิโลกรัม หมูย่างเมืองตรัง นอกจากจะใช้แกล้มกาแฟเป็นอาหารพิเศษแล้ว ยังใช้ในงานต่างๆ อีกหลายงาน เช่น งานแต่งงาน งานตรุษสารท (ของคนจีน) หรืองานเลี้ยงรวมทั้งงานศพด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากเมืองตรังมีคนเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก ก่อนจะยกศพไปฝังหรือเผา ลูกหลานจะนำหมูย่างทั้งตัวมาเซ่นไหว้ศพจากนั้นนำไปเลี้ยงแขกส่งท้ายเป็นมื้อพิเศษ กล่าวได้ว่า หมูย่างสูตรเมืองตรังสามารถใช้ได้ทุกงานแล้วแต่ต้องการ ทางจังหวัดตรัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และโรงแรมธรรมรินทร์ จึงได้ร่วมมือกันจัดงานเทศกาลหมูย่างขึ้น เพื่อเป็นการเผยแพร่อาหารที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดตรังอีกด้วย


จัดงานช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกันยายนทุกปี สอบถามรายละเอียด หอการค้าจังหวัดตรัง โทร. 0 7521 0238, 0 7522 5353

เทศกาลหมูย่าง ตรัง

แชร์

ศาลากลางจังหวัดตรัง อ.เมือง จ.ตรัง

รีวิว 1 รายการ | เทศกาล

ไม่ทราบเวลาเปิดปิดที่แน่นอน

n/a

-

2433

แนะนำทริป

ทริปของคุณ

ลบออก

รีวิวทั้งหมด

(รีวิว 1 รายการ)

nongview

รีวิวเมื่อ 7 ก.ย. 53

ตรังจัดงานเทศกาลหมูย่างเมืองตรัง ครั้งที่ 21 อย่างยิ่งใหญ่ ผู้ประกอบการพร้อมใจขายราคาพิเศษต่ำกว่าท้องตลาด กก.350 บาท

      

      เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 5 ก.ย.ที่หน้าศาลากลาง จ.ตรังหลังเก่า นายไมตรี อินทุสุต ผวจ.ตรัง เป็นประธานพิธีเปิดงานเทศกาลหมูย่างเมืองตรัง ครั้งที่ 21 ประจำปี 2553 โดยมีนายธีวัฒน์ หวังศิริเลิศ รองประธานหอการค้า จ.ตรัง ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้า จ.ตรัง นายกิจ หลีกภัย นายก อบจ.ตรัง หัวหน้าส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ประมาณ 2,000 คน จากนั้นนายไมตรีได้ทำพิธีสับหมูย่างเพื่อเปิดงานพร้อมกับเยี่ยมชมผู้ประกอบการจำหน่ายหมูย่างภายในงาน

      

      ทั้งนี้งานเทศกาลหมูย่างเมืองตรังดังกล่าว จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์สัปดาห์แรกของเดือนกันยายนของทุกปี โดยจังหวัดตรัง สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.ตรังร่วมกับหอการค้า จ.ตรัง และผู้ประกอบการหมูย่าง ได้จัดให้มีงานเทศกาลแห่งความอิ่มอร่อย เทศกาลหมูย่างเมืองตรัง ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 21 โดย มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์หมูย่างอันเป็นอาหารพื้นเมืองและของที่ ระลึกที่มีชื่อเสียงของจังหวัดตรังให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง ตลอดจนสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการย่างหมูและเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร

      

      การจัดงานในปีนี้มีกิจกรรมการจำหน่ายหมูย่างของผู้ประกอบการ ในราคาพิเศษต่ำกว่าท้องตลาด โดยจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 350 บาท ขบวนพาเหรดแฟนซีที่สวยงามและสร้างสรรค์ ซึ่งในปีนี้มีนักเรียนและนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 1,500 คน จาก 11 สถานศึกษา การจำหน่ายสินค้า OTOP โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตรัง การประกวดตกแต่งจานหมูย่าง การแข่งขันเลียนเสียงหมู กิจกรรมบนเวที

      

      นายไมตรี อินทุสุต ผวจ.ตรัง กล่าวว่า หมูย่างของชาวตรังนั้นไม่ใช่เป็นเพียงอาหารที่ใช้เพื่อการบริโภคเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่มีความผูกพันกับชาวตรังตลอดช่วงของชีวิต เพราะชาวตรังใช้หมูย่างในเหตุการณ์สำคัญเกือบทุกโอกาส รวมทั้งความเชื่อที่ว่า หากกินหมูย่างตอนเช้าจะทำให้การงานในวันนั้นสำเร็จลุล่วงลงอย่างง่ายดาย กลายเป็นเรื่องหมู หมู

      

      ตลอดเวลากว่า 100 ปีที่ชาวตรังได้สืบทอดการทำหมูย่างจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งโดยดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และรสชาติที่อร่อย เป็นที่ถูกใจของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งภาคราชการและภาคเอกชนของจังหวัดตรังได้ริเริ่มจัดงานเทศกาลหมูย่างเมืองตรังเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2533 จนกระทั่งในทุกวันนี้ หมูย่างเมืองตรังเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ จนกล่าวได้ว่า หากจะกล่าวถึงหมูย่างนั้น คนทั่วประเทศจะนึกถึงหมูย่างของเมืองตรัง

      

      นอกจากนี้ ผวจ.ตรัง กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันจังหวัดตรังมีผู้ประกอบการหมูย่างกว่า 100 ราย ซึ่งภาคราชการได้ให้ความสำคัญในการกำกับ ดูแล ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตหมูย่างอย่างต่อเนื่อง โดยมีหลายหน่วยงานร่วมดำเนินการ ตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยงสุกร การผลิตที่ถูกสุขลักษณะและส่งเสริมด้านการตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจ และที่สำคัญหมูย่างของชาวตรังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2549 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หมูย่างเมืองตรังนั้นได้รับการยอมรับด้านคุณภาพ มีชื่อเสียงเป็นคุณลักษณะเฉพาะเมืองตรังเท่านั้น  

 

ขอบคุณข้อมูลจาก nationchannel.com

ถูกใจ แชร์